Atom me

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หนูรักแม่ที่สุด


เเม่เปรียบดั่ง นางฟ้าของลูก แม่เป็นได้ทุกอย่างที่ลูกต้องการ แม่ทำเพื่อลูกทุกอย่าง ไม่ว่าลูกจะขออะไร แม่ก็หามาให้

 โอ้ละเห่-ฟูมฟัก…ด้วยรักเจ้า
เมื่อยามเยาว์แม่ถนอมกล่อมจอมขวัญ
เอื้ออาทร-ร้อนร้าย แม่คลายพลัน
ภัยกางกั้นแม่กล้าฟันฝ่าไป


หวังเพียงแค่ “คนดี” ที่แม่รัก
จะมีหลักอนาคตที่สดใส
ยอมลำบากยากเย็นทุกข์เข็ญใจ
ด้วยสายใยรักแน่น ไม่แคลนคลอน


แม่จ๋า…ล้านความรักจากใครเขา
หลอมรวมเข้าอาจแกร่งยิ่งดั่งสิงขร
แต่… “รัก” หญิงที่ขนานนาม “มารดร”
แกร่งแน่นอน..กว่าสิ่งใดในโลกา


แม่จ๋า…แม่คือหญิงที่ยิ่งใหญ่
เหนือเทพไท้ ทั้งสามภพจบทั่วหล้า
พระคุณล้นเกินรำพันจำนรรจา
พรรณนาเทียบได้…ไม่เพียงพอ


จะหาทิพย์จากสวรรค์ ณ ชั้นสรวง
กรองเป็นพวงแทนพลอย…ทำสร้อยศอ
หรือหยิบดาวพราวฟ้ามาทักทอ
แทนป่านปอ….เป็นของขวัญ…นั้นด้อยไป


โอ้ละเห่..ที่ฟูมฟัก “ลูกรักแม่” 
สัญญาแน่..เป็นคนดีมิเผลอไผล
เพื่อทดแทนคุณความรัก…จากดวงใจ

กราบด้วย “มาลัยอักษรา” บูชาเอย














วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันเข้าพรรษา
         
              วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

               "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

              สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่ 1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย 2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ 3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด 4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้ นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

                ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...



http://hilight.kapook.com/view/13698/